รัชกาล

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

รัชกาลที่5


 เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. 2411) รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี 22 วัน [1] เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ด้วยโรคพระวักกะ รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา
ผู้คนมักออกพระนามว่า "ปิยมหาราช" แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก และว่า "พระพุทธเจ้าหลวง"

พระราชประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (ในรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงพระนามเจ้านายฝ่ายในตามราชประเพณีนิยมเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร ซึ่งคำว่า "จุฬาลงกรณ์" นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง "พระเกี้ยว" ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา

การศึกษา[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงได้การศึกษาภาษาเขมรจากหลวงราชาภิรมย์ ทรงได้การศึกษาการยิงปืนไฟจากพระยาอภัยเพลิงศร วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2404 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ [2] และเมื่อ พ.ศ. 2409 พระองค์ผนวชตามราชประเพณี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังจากการผนวช พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า [3]

บรมราชาภิเษกครั้งที่ 1[แก้]

บรมราชาภิเษกครั้งที่สอง
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตภายหลังเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า "พระราชดำริทรงเห็นว่า เจ้านายซึ่งจะสืบพระราชวงศ์ต่อไปภายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ พระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันจงพร้อม สุดแล้วแต่จะเห็นดีพร้อมกันเถิด ท่านผู้ใดมีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็ให้เลือกดูตามสมควร" ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรคต จึงได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องการถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ซึ่งในที่ประชุมนั้นประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา [4] โดยในขณะนั้น มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมพรรษครบ 20 พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า[3]
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทร มหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว"

ผนวชและบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2[แก้]

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษาแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2416 จึงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระภิกษุ แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา 15 วัน หลังจากทรงลาสิกขาแล้ว ได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า[5]
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ มหามงกุฎราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฏไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตร โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

สวรรคต[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ (ไต) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต รวมพระชนมพรรษาได้ 57 พรรษา [6] ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช และเป็นวันหยุดราชการ

พระราชกรณียกิจ[แก้]

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเลิกทาส การป้องกันการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ได้มีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัดและอำเภอ และได้มีการสร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง เมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433 นอกจากนี้ได้มีงานพระราชนิพนธ์ ที่สำคัญ การก่อตั้งการประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การสื่อสาร การรถไฟ ส่วนการคมนาคม ให้มีการขุดคลองหลายแห่ง เช่น คลองประเวศบุรีรมย์ คลองสำโรง คลองแสนแสบคลองนครเนื่องเขต คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองเปรมประชากร และ คลองทวีวัฒนา ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองส่งน้ำประปา จากเชียงราก สู่สามเสน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ซึ่งคลองนี้ส่งน้ำจากแหล่งน้ำดิบเชียงราก ผ่านอำเภอสามโคก อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอคลองหลวง อำเภอธัญบุรีและอำเภอลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี,อำเภอปากเกร็ด และ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และ เขตสายไหม เขตบางเขน เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไท และ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
พระราชกรณียกิจด้านสังคม ทรงยกเลิกระบบไพร่ โดยให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์ นับเป็นการเกิดระบบทหารอาชีพในประเทศไทย[7] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงดำเนินการเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากออกกฎหมายให้ลูกทาสอายุครบ 20 ปีเป็นอิสระ จนกระทั่งออกพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ซึ่งปล่อยทาสทุกคนให้เป็นอิสระและห้ามมีการซื้อขายทาส


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น